คนดีในสังคม
สังคมของเราจะน่าอยู่ได้ ถ้าหากคนบนโลกใบนี้ รู้จัก "ให้" มากกว่า "รับ" ซึ่งก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่พร้อมจะเป็น "ผู้ให้" และรังสรรค์สิ่งดี ๆ เพื่อสร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับสังคมของเรา ลองไปดูกันว่า ในรอบปี พ.ศ. 2554 เรื่องราวของใครที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจ และซาบซึ้งไปกับสิ่งดี ๆ ที่พวกเขาสร้างขึ้น เพื่อทำให้ผู้อื่นรู้สึกอิ่มเอมใจกันบ้าง รับรองว่าทุกคนที่ได้อ่านเรื่องที่กระปุกดอทคอมนำมาเสนอในวันนี้ ต้องรู้สึกภาคภูมิใจที่มีพวกเขาอยู่ร่วมในสังคม และคงเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้ทำดี เพื่อผู้อื่นกันค่ะใครที่ได้รับรู้เรื่องราวของ "ย่ายิ้ม" หรือ "ย่ายิ้ม เย้ยยาก" คงจะอดอมยิ้มตามไปกับแกไม่ได้แน่นอน เมื่อหญิงชราวัย 80 กว่า ที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่าทึบเพียงลำพัง กลับไม่เคยอยู่ห่างจากคำว่า "ความสุข" เลย
นั่นเพราะทุก ๆ วัน "ย่ายิ้ม" จะไม่ปล่อยให้เวลาเดินผ่านไปอย่างไร้ค่า และสิ่งมีค่าที่ "ย่ายิ้ม" ทำก็คือ การเดินถือจอบเก่า ๆ 1 อัน ขึ้นเขาไปตัดไม้ไผ่หลายสิบท่อนเพื่อมาสร้างฝาย โดยหวังจะให้ผืนป่าประเทศไทยเป็นผืนป่าที่ชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ ตามพระราชดำรัสของพ่อหลวงที่คุณย่ายิ้มเคยได้ยินได้ฟังมานานนับสิบปีแล้ว และตั้งแต่นั้นมา คุณย่ายิ้มก็จำคำสอนของพ่อหลวงใส่เกล้า และปณิธานกับตัวเองว่า จะต้องสร้างฝาย เพื่อสร้างประโยชน์ต่อแผ่นดินไทย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสังขารของหญิงชราจะร่วงโรยลงไปตามวัย แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้ "ย่ายิ้ม" หยุด เพราะแกถือคติว่า วันนี้มีแรงแค่ไหนก็ทำเท่านั้น พอตื่นเช้าขึ้นมาในวันรุ่งขึ้น ก็ลุกขึ้นมาทำใหม่ แต่จะมีเพียงวันโกนและวันพระเท่านั้น ที่ "ย่ายิ้ม" จะหยุดพักจากการสร้างฝาย และการหยุดของแกไม่ใช่การหยุดพักผ่อนกาย เพราะในวันดังกล่าวนั้น ย่ายิ้มจะเดินทางลงจากเขากว่า 8 กิโลเมตร เพื่อไปเข้าวัดเข้าวาทำจิตใจให้สงบผ่อนคลายจิตใจ
หลายคนสงสัยว่า "ย่ายิ้ม" จะมาลำบากทำไม ทั้งที่ลูก ๆ หลาน ๆ ของแกก็มีฐานะและอ้อนวอนให้ "ย่ายิ้ม" กลับไปอยู่บ้านด้วยกัน แต่ "ย่ายิ้ม" กลับเลือกที่จะอยู่ที่นี่ นั่นเพราะแกคิดเสมอว่า "ทางสวรรค์จะเป็นทางที่รก ทางนรกจะเป็นทางที่เรียบ..."
ตลอดหลายปีกับชีวิตกลางป่าเขาเพียงลำพัง ย่ายิ้ม สารภาพว่า เมื่อไหร่ที่ลูกขึ้นมาหาและมานอนด้วย แกก็ดีใจทุกครั้ง แต่พอกลับกันไป แค่เห็นเดินคล้อยหลังก็นั่งใจละห้อยแล้ว...แต่ถึงอย่างไร แกก็ยังยืนหยัดว่าจะขออยู่ในป่าในเขาอย่างนี้ไปจนตาย และคำขอสุดท้ายที่ฝากไว้กับลูกคือ...ถ้าแม่ตาย ก็ให้เผาให้ฝังไว้ที่ไร่บนเขานี้
"ย่าไม่อยากตายหรอกหนา แต่ไม่เคยกลัว ถึงเวลาจะต้องละแล้ว ก็ต้องไป..." ถ้อยคำนี้บอกได้เป็นอย่างดีว่า หญิงชราวัย 80 เข้าใจถึงแก่นแท้ของชีวิตแล้วจริง ๆ
ไม่มีใครอยากทิ้งชีวิตไว้ยังพื้นที่สีแดงของปลายด้ามขวานไทย แต่สำหรับพวกเขา "ชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง 60" ทั้งหมด 15 ชีวิต นี่คือหน้าที่ในฐานะชายชาติทหารผู้ต้องเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ก่อนที่มันจะไปคร่าชีวิตของใคร นำทีมโดย ร้อยตำรวจตรีแชน วรงคไพสิฐ ซึ่งทุกคนในทีมล้วนผ่านเหตุการณ์ระเบิดมาหลายต่อหลายครั้ง ผ่านเหตุการณ์เสี่ยงตายมาก็มากมาย บาดเจ็บมาจนนับครั้งไม่ถ้วน แต่ทว่าก็ไม่มีใครยอมแพ้ และขอลาออกจากทีมชุดนี้ เพราะหัวใจยัง "สู้" อยู่
ไม่มีใครรู้ว่า สถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด เช่นเดียวกับเหล่าสมาชิกหน่วยเก็บกู้ระเบิดที่ไม่มีใครรู้ว่า วันใดที่พวกเขาจะออกไปปฏิบัติหน้าที่เป็นวันสุดท้าย แต่พวกเขาตระหนักไว้เสมอว่า หากต้องตายก็ขอตายอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ในฐานะของข้าราชการที่ปวารณาตัวเป็นข้าของแผ่นดิน
"พวกผมเกิดเป็นคนไทย เกิดในสามจังหวัดภาคใต้ พวกผมต้องตอบแทนพระคุณแผ่นดิน พวกผมทั้งหมดที่ยืนตรงนี้เป็นลูกชาวสวน ชาวนา ชาวไร่ อุปกรณ์ที่ชาวสวน ชาวนาใช้ทำงานก็คือ "ขวาน" หาก "ขวาน" ไม่มีด้าม ก็ใช้ทำอะไรไม่ได้ พวกผมขอสัญญาต่อหน้าพระคุณเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตรงนี้ว่า พวกผมจะดูแลรักษาด้ามขวานตรงนี้ตลอดไป"
นี่คือคำปฏิญาณของนายทหารกล้าที่ประกาศก้องต่อหน้าทุกคน และถ้อยวาจานี้คงเป็นคำตอบว่า ทำไมทั้ง 15 ชีวิต ยังยืนหยัดที่จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อปกป้องคนไทยให้นอนหลับฝันดี
ในยุคข้าวยากหมากแพง การจะหาอะไรรับประทานให้อิ่มท้องในราคาเพียงแค่ 5 บาท ดูจะเป็นเรื่องยากเสียยิ่งกว่ายาก แต่ทว่า...ในมุมเล็ก ๆ มุมหนึ่งของสังคม ยังมีแม่ค้าวัยย่างหกสิบปีคนหนึ่งประกอบอาชีพหาบเร่ขายกับข้าวมานานกว่า 30 ปีแล้ว และยังคงตรึงราคาเดิมที่ 5 บาท แม้ว่าข้าวจะยาก หมากจะแพง น้ำมันจะปรับขึ้นราคา แต่ "ป้าแดง บุญยัง พิมพ์รัตน์” หรือที่ทุกคนเรียกแกว่า "ป้าหาบ" แม่ค้าในซอยจรัญสนิทวงศ์ 33 แยก 3 ก็ไม่เคยแม้แต่จะคิดปรับขึ้นราคา
"นึกถึงตัวเองเวลาไม่มี ท้องหิวมันทรมานมากนะ คนเงินเดือนน้อย ๆ ก็อยากให้เขากินอิ่ม บางคนมีเงินมา 10 บาท มาซื้อกับป้า ป้าก็ให้เขาเยอะ ๆ เป็นข้าวเหนียวเป็นอะไรอย่างนี้ บางคนมาไกล ๆ ไม่มีเงินมา ป้าก็ให้ไปบ้าง หรือไม่ก็คิดเขาแค่ครึ่งเดียว 20 บาท เอา 10 บาทพอ" ป้าหาบ บอก
เพราะความที่้ป้าหาบเคยอัตคัดขัดสนมาก่อน แต่ ณ วันนี้ แกสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวจนพอมีพอใช้อย่างพอเพียงแล้ว ก็ได้เวลาที่จะแบ่งปันความอิ่มท้องให้กับผู้อื่นบ้าง โดยป้าหาบบอกว่า ชีวิตของแกสุขสบายดี ไม่เป็นหนี้ ไม่ลำบาก ก็ไม่เป็นจำเป็นที่จะต้องเอากำรี้กำไรอะไรให้คนอื่นเดือดร้อน สู้ "ให้ผู้อื่น" จะดีกว่า
เห็นไหมว่า เพียงแค่ความคิดเล็ก ๆ ของป้าหาบที่เจือจานน้ำใจอันยิ่งใหญ่สู่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน กลับทำให้มุมหนึ่งของสังคมไทยในยุคข้าวยากหมากแพงดูแล้วมีความสุขขึ้นมาถนัดตา
ณ โรงพยาบาลภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นภาพของ "เพ็ญลักขณา ขำเลิศ" พยาบาลวิชาชีพที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลแห่งนี้อยู่ในยูนิฟอร์มสีขาวของสาวพยาบาล แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เธอละทิ้งหน้าที่ เพราะเธอบอกว่า หน้าที่ของเธอไม่ใช่แค่การดูแลผู้ป่วยตามเตียงในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่เธอยังอุทิศตัวเองให้กับเตียงผู้ป่วยนับร้อยนับพันหลังคาเรือนในอำเภอภาชี ในฐานะ "พยาบาลไร้หมวก"
เพ็ญลักขณา บอกว่า การเป็นพยาบาลไม่จำเป็นต้องมีเครื่องแบบ หากแต่ "หัวใจ" ต่างหาก คือสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นพยาบาลที่แท้จริง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไม เพ็ญลักขณา หรือ พี่ติ๋ง จึงมักจะเลือกลงพื้นที่ไปดูแลผู้ป่วยใน 60 หมู่บ้านในอำเภอภาชี มากกว่าการทำงานอยู่ในโรงพยาบาลภาชี เพราะจะได้เห็นกับตาตัวเองว่า คนไข้กินอยู่อย่างไร และทำไมหลายคนจึงไม่หายจากโรคเสียที แม้ว่าตัวเธอเองก็กำลังทนทุกข์ทรมานจากการเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งต้องได้รับการเยียวยาไม่ต่างจากคนไข้รายอื่น ๆ ที่เธอรับผิดชอบอยู่ แต่พี่ติ๋งกลับมองว่า นี่ไม่ใช่เงื่อนไขที่จะมาทำให้เธอย่อหย่อนต่อหน้าที่การงานได้
"ที่พี่ทำทุกวันนี้ทำเพื่อคนไข้ ไม่ได้ทำเพื่อตอบสนองนโยบายเอาเงินมาแลกกับงาน งานที่พี่ทำคืองานที่ทำเพื่อแลกกับคน แลกกับชีวิตมนุษย์ เราต้องเป็นผู้ให้ อย่าเป็นผู้รับ เวลาที่เราเป็นข้าราชการ เราต้องนึกเสมอว่า จะทำอย่างไรที่จะมีโอกาส "ให้" ให้ประชาชนมีความสุข ให้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยเขาพ้นทุกข์ได้ มันไม่มีอะไรมากนอกจากการให้"
...สิ่งที่พี่เพ็ญลักขณากำลังทำอยู่ใช่ไหม? ที่เขาเรียกว่า ทุ่มเททั้งกายและใจให้กับเพื่อนมนุษย์
หลังจากจบการศึกษาจากวิทยาลัยสุขภาพ ชลบุรี เด็กต่างจังหวัดลูกชาวนาจากปราจีนบุรี อย่าง "วิชิต คำไกร" ก็ตัดสินใจเลือกบรรจุตัวเองให้มาทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ พื้นที่ชายขอบซึ่งคงจะมีน้อยคนนักที่อยากจะมาอาศัยอยู่ แต่ "หมออนามัย" คนนี้ เลือกเส้นทางนี้ เพราะได้เห็นความทุกข์ยากของคนไข้ในเขตชายแดนที่ห่างไกล และคิดไปถึงตัวเองที่เป็นลูกชาวนาในพื้นที่ทุรกันดารเช่นกัน จึงตัดสินใจลงมาทำงานยังที่ตำบลทับพริก
นอกจากการรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลแล้ว ภารกิจหลักของ "วิชิต" คือ การลงพื้นที่ไปเคาะประตูดูแลสารทุกข์สุกดิบด้านสุขภาพให้กับชาวบ้าน ด้วยความรู้สึกที่ว่า ชาวบ้านคือคนในครอบครัวเดียวกัน และหากมีเวลาว่าง หมออนามัยคนนี้จะลงพื้นที่ตระเวนตรวจความเรียบร้อยของหมู่บ้าน ร่วมกับผู้นำชุมชน เพื่อป้องปรามปัญหายาเสพติดในหมู่เยาวชนภายในตำบลทับพริก โดยหวังขจัดปัญหาต่าง ๆ และยกระดับชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นงานที่คุณหมอลงมาทำด้วยตัวเองด้วยจิตใจที่หวังให้ประโยชน์เกิดแก่ชาวชุมชนด้วยกัน
"เราเป็นข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงบอกว่า เมื่อจะทำงานอย่ายกเอาความขาดแคลนมาเป็นข้ออ้าง แต่ให้ทำงานท่ามกลางความขาดแคลนนั้นให้บรรลุผล เพราะฉะนั้นความขาดแคลนในพื้นที่ตำบลทับพริกอาจจะมีบ้าง แต่เราต้องแปรเปลี่ยนความขาดแคลนนั้นให้เป็นพลังในการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็จะทำให้เรามีพลังใจในการทำงานช่วยเหลือผู้อื่น"
...หากทุกคนคิดได้เหมือนกับพี่วิชิต ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล คงจะได้มีคุณภาพชีวิต และได้รับโอกาสทางสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน
หนุ่มลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลแม่ลาว อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ที่คอยช่วยเหลืองานในโรงพยาบาลอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง อย่าง "หน่อคำ สมสวัสดิ์" คนนี้ แต่เดิมเขาเป็นเพียง "จิตอาสา" ของชมรมพัฒนาผู้พิการ ที่มีหน้าที่ลงไปช่วยเหลือและเติมเต็มกำลังใจให้ผู้พิการในพื้นที่มีกำลังใจต่อสู้ชีวิตต่อไปได้ในสังคม แต่เมื่อทางโรงพยาบาลแม่ลาวให้โอกาส "หน่อคำ" จึงได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นเลขานุการของชมรมพัฒนาผู้พิการ โรงพยาบาลแม่ลาว
แม้ว่าร่างกายของหน่อคำจะไม่ปกติเหมือนใครหลาย ๆ คน แต่ทำสามารถทำกิจวัตรประจำวันของตัวเองได้อย่างไม่ต้องเป็นภาระให้ใคร ทั้งการขี่มอเตอร์ไซค์ ใช้คอมพิวเตอร์ และจัดรายการวิทยุชุมชน นอกจากนี้ "หน่อคำ" ยังเป็นคนมองโลกในแง่ดี เพราะไม่เคยรู้สึกเป็นทุกข์กับความพิการของเขาเลย ตรงกันข้าม เขายังมองว่า ตัวเองโชคดีกว่าคนอื่นที่พิการไม่มาก เพราะยังมีอีกหลายชีวิตที่น่าเศร้ากว่าเขา นั่นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ "หน่อคำ" ใช้ความจริงใจลงไปพบปะพูดคุยกับผู้พิการคนอื่น ๆ เพื่อสร้างกำลังใจให้พวกเขา
"คนเราเกิดมาสามารถทำดีได้ทุกคน ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องมีการศึกษาสูง มีฐานะร่ำรวย หรือมีสภาพร่างกายปกติ แข็งแรง เราสามารถทำดีได้ทุกเวลา ไม่จำกัดเวลา ถ้าเรามีความตั้งใจที่จะทำเพื่อผู้อื่น ชีวิตของเราจะมีค่าหรือด้อยค่า ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง หากมองตัวเองให้มีค่า มีประโยชน์ต่อคนอื่น ก็เหมือนกับเป็นภารกิจหนึ่งที่เราเกิดมาทำหน้าที่นี้โดยตรง เกิดมาเพื่อให้คนอื่นได้รับการปลดปล่อยความทุกข์" หน่อคำ ว่าไว้
คำว่า "ขอบคุณ" คงไม่ใช่เป็นเพียงคำพูดของผู้พิการที่อยู่ในความดูแลของ "หน่อคำ" เอื้อนเอ่ยออกมาจากใจให้กับชายหนุ่มคนนี้เพียงเท่านั้น แต่สำหรับคนทั่วไปที่ได้รับรู้เรื่องราวชีวิตของ "หน่อคำ" ก็คงต้องกล่าวคำว่า "ขอบคุณ" ให้กับชายหนุ่มคนนี้เช่นเดียวกัน เพราะชีวิตของเขาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนธรรมดา ๆ ที่กำลังหมดแรงจากการล้มลุกคลุกคลานมาหลายต่อหลายครั้ง มีรอยยิ้ม และมีกำลังใจสู้ชีวิตต่อไปได้อีกครั้ง
เมื่อ "เรือนจำ" คือสถานที่คุมขังผู้เคยกระทำผิด นั่นอาจจะทำให้ "นักโทษ" หลาย ๆ คน เกิดความอัดอั้นตันใจและก่อเรื่องทะเลาะวิวาทดังที่เรือนจำหลายแห่งเคยเป็นข่าว แต่ ณ เรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานีแห่งนี้ "นักโทษ" เปรียบเสมือน "ลูก ๆ" ของ "พ่อ" ซึ่งมีตำแหน่งผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานี
นภินทร์ จอกลอย ผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานี ผู้คอยควบคุมดูแลรักษาความเรียบร้อยของเรือนจำแห่งนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เซ็นเอกสารให้หมดไปวัน ๆ หนึ่งเท่านั้น แต่ทุกเช้า ผบ.นภินทร์ จะปั่นจักรยานมาทำงานตรวจดูความสะอาดเรียบร้อยรอบเรือนจำ ก่อนจะเดินสั่งงานทุกซอกทุกมุม ไม่เว้นแม้แต่ห้องน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าเรียบร้อยทุกกระเบียดนิ้ว
"ผมพยายามจะลบคำสบประมาทที่ประชาชนมีต่อข้าราชการ คือ ใต้โต๊ะ เรือเกลือ เช้าชามเย็นชาม ผมเกลียดที่สุดคือเรื่องผักชีโรยหน้า" ผบ.นภินทร์ ประกาศเจตนารมณ์
ผบ.นภินทร์ รู้ดีว่า การที่นักโทษอยู่ในสภาพมีกุญแจมือ ติดอยู่ภายใต้ประตูรั้วที่กั้นดำทึบย่อมส่งผลต่อสภาพอารมณ์ นั่นจึงทำให้ ผบ.นภินทร์ พยายามหาโอกาสให้ผู้ต้องขังได้เข้าวัดเข้าวา ร่วมทำบุญตักบาตร ฟังธรรม และใกล้ชิดพระสงฆ์ เพราะจะช่วยระบายความเครียดได้เป็นอย่างดี และเป็นการลดช่องว่างระหว่างผู้ต้องขังกับเจ้าหน้าที่ที่ได้ผลดีด้วย นอกจากนั้นแล้ว "พ่อ" คนนี้ ยังนำเอาหลักธรรมมาใช้ขัดเกลาจิตใจผู้ต้องโทษ เพื่อทำให้พวกเขามีจิตใจอ่อนโยน รู้จักเสียสละ และพบกับความสุขที่แท้จริง เมื่อกลับออกจากดินแดนแห่งนี้ไปแล้ว จะได้สามารถใช้ชีวิตใหม่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่า และไม่หวนกลับมา ณ ที่แห่งนี้อีก
...ไม่มีการให้อะไรจะยิ่งใหญ่เท่ากับการให้ชีวิตใหม่ และให้โอกาสกับผู้ที่เคยพลาดพลั้ง นี่กระมังที่ทำให้ ผบ.นภินทร์ ดำเนินตามเจตนารมณ์ของตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง
ณ โรงเรียนซับมงคลวิทยา พื้นที่ไกลปืนเที่ยงของอำเภอเทพสถิตย์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นสถานที่ที่ครูเอ หรือ ครูพีระพงษ์ วงศ์ศรีจันทร์ เลือกมาประจำการ โดยเห็นว่า เด็กอีสานเป็นเด็กที่ขาดโอกาสมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ และเขาก็ขอเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่จะมาเติมเต็มโอกาสให้กับผ้าขาวผืนบริสุทธิ์เหล่านี้
ในฐานะครูสอนศิลปะ ครูเอ ได้พร่ำสอนเด็ก ๆ ให้ใช้ศิลปะสร้างความสุนทรีย์ และเพลิดเพลิน หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการเรียน และการทำงานหนักช่วยพ่อแม่ที่บ้าน แต่เหนือสิ่งอื่นใดแล้ว ศิลปะของครูเอไม่ได้เป็นไปเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ ครูเอ ยังหวังให้ศิลปะเป็นใบเบิกทางให้เด็ก ๆ ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ดังที่เด็ก ๆ หลายคน นำความรู้วิชาศิลปะไปต่อยอดจนได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดี ๆ และได้รับรางวัลอีกมากมาย
"ผมเป็นศิลปินประเภทที่ไม่ได้จะสร้างผลงานทางศิลปะบนเฟรมผ้าใบ แต่เฟรมของผมคือชีวิตของเด็ก ผมต้องรับผิดชอบสิ่งที่ผมเขียน ซึ่งก็คือชีวิตคน" ครูเอ บอก
เมื่อถามถึงความคาดหวังของครูเอ เขาบอกว่า ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะนี่คือความสุขของเรา แค่ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาแก้ไขอะไรอีก แม้ว่าเขาอาจจะเสียโอกาสกับอาชีพที่ก้าวหน้า เงินทองก้อนโต แต่การที่ลงมาทำอย่างนี้ ทำให้เขามีความสุขทุกวัน และยิ่งเห็นเด็กมีอาชีพ มีความสุข มันคือสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ และเป็นความสุขที่สุดของคนที่ได้ชื่อว่าเป็น "ครู" แล้ว
การ "สร้าง" และ "เปลี่ยน" ชีวิตของผู้อื่นให้ดำเนินอยู่ในเส้นทางแห่งความถูกต้อง และได้รับโอกาสทางสังคมมากขึ้น นี่คือหน้าที่ของครูอย่างแท้จริง...และครูพีระพงษ์ ก็กำลังทำหน้าที่นั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ด้วยสไตล์การแต่งตัวนุ่งขาว ห่มขาว ไว้ผมเผ้าหนวดเครา อาจทำให้คนที่ไม่รู้จัก ไม่เชื่อว่าเขาผู้นี้คือ "ผู้ใหญ่บ้าน" แห่งบ้านเนินน้ำเย็น ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ และเมื่อมองข้ามเรื่องการแต่งตัวไป "ธีรพันธุ์ บุญบาง" คนนี้ คือผู้ปกครองหมู่บ้านที่ชาวบ้านรักและเคารพ ในฐานะผู้นำชุมชนที่ยึดวิถีเศรษฐกิจพอเพียง
หากเดินเข้าไปในที่ทำการผู้ใหญ่บ้านของผู้ใหญ่ธีรพันธุ์ หลายคนอาจจะแปลกใจที่ได้เห็นทุ่งนา แปลงผัก บ่อปลา บ่อกบ เล้าหมู เล้าไก่ และองค์ความรู้อีกมากมายภายใต้ชื่อ "โครงการเศรษฐกิจพอเพียง 1 ไร่แก้จน สวรรค์บ้านนา" ซึ่งผู้ใหญ่จัดสร้างขึ้นเพื่อทำการเกษตรแบบผสมผสานเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านเห็น และนำไปปฏิบัติตาม โดยหวังจะให้ชาวบ้านเลิกจน พึ่งพาตัวเองได้ และด้วยการจัดแปลงเกษตรแบบผสมผสานของผู้ใหญ่เป็นที่เลื่องลือไปทั่วจังหวัด ทำให้มีชาวบ้านในหลาย ๆ ชุมชนเดินทางมาศึกษาดูงานที่หมู่บ้านนี้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้บ้าง
"ผู้นำต้องมีเอกลักษณ์ของตัวเอง เราต้องเป็นต้นแบบของการทำความดีให้ลูกบ้านได้เห็น ชุมชนจะเข้มแข็งได้ต้องเริ่มจากจิตใต้สำนึกก่อน ถ้าจิตใต้สำนึกเข้มแข็งก็เท่ากับมีความคิด มีปัญญา ถ้ามีปัญญาแล้วก็จะไม่ไปคิดทำเรื่องไม่ดี ดังนั้นเราต้องปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมกับเยาวชนให้มากที่สุด และใช้การศึกษาสร้างคน" ผู้ใหญ่ธีรพันธุ์ บอกแนวคิด
ผู้ใหญ่เดินหน้าสร้างคนด้วยการใช้ธรรมะที่เขาเลื่อมใสศรัทธา ชักจูงให้คนเข้ามาใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามากขึ้น โดยทำตัวอย่างให้ลูกบ้านเห็น ทำให้ ณ วันนี้ หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านสีขาวที่น่าอยู่ และทำให้ผู้ใหญ่กล้าประกาศว่า ชุมชนแห่งนี้ปลอดอาชญากรรม และปลอดยาเสพติดแน่นอน
เพราะธรรมะที่ผู้ใหญ่ธีรพันธุ์เลื่อมใส ได้บันดาลให้ชาวบ้านในชุมชนเนินน้ำเย็น เลื่อมใสผู้ใหญ่ใฝ่ธรรมะคนนี้เช่นเดียวกัน
ด้วยบุคลิกส่วนตัวที่สนุกสนานและเป็นกันเอง ทำให้พี่เล็ก จ่าสิบตำรวจวิชิต กัลยาณวัตร อดีตนายตำรวจชุดปฏิบัติการชุมชนสัมพันธ์ ผู้ผันตัวเองมาเป็นพัฒนากรชุมชน เข้ากับคนได้ไม่ยากนัก และส่งผลให้การทำงานพัฒนาชุมชนของเขาเป็นไปได้อย่างราบรื่น
ทุก ๆ วัน พี่เล็ก จะต้องลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน หรือไปประสานงานติดต่อช่วยเหลือชาวบ้าน โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นช่วงกลางวัน หรือกลางคืน จนใคร ๆ ต่างก็รู้จักแก และยิ้มต้อนรับโอภาปราศรัยด้วยดีในทุกครั้งที่พี่เล็กมาเยือน และทุกครั้งที่พี่เล็กลงพื้นที่ก็จะไม่ได้แต่งชุดราชการ หากแต่ใส่เพียงชุดลำลองเหมือนชาวบ้านทั่วไป เพื่อให้เข้าถึงและดูเหมือนเป็นญาติสนิทมิตรสหายกับชาวบ้านมากที่สุด โดยพี่เล็กจะเข้าไปสอนให้ชาวบ้านนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับวิถีชีวิตของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ ซึ่งแนวคิดนี้ก็ช่วยให้ชาวบ้านลดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก
"การได้ลงพื้นที่เป็นสิ่งที่มีความสุขมาก 11 ปีที่ผ่านมา เราก็ทำหน้าที่เต็มกำลัง ช่วยเขาเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นเวลานอกราชการ หรือในราชการ เวลาลงพื้นที่เห็นพี่น้องประชาชนมีความสุข เราก็ภูมิใจ จริง ๆ ก็เคยมีท้อบางเหมือนกัน แต่ก็ไม่ถอย เพราะคิดไว้แล้วว่า เกิดมาเป็นคนไทยก็จะต้องทดแทนบุญคุณแผ่นดิน เลยคิดอยู่เสมอว่า เกิดมาชาตินี้จะสร้างความดีไม่เคยหวั่น จะเร่งสร้างทั้งคืนและทั้งวัน เพื่อชีวิตอันสั้นนั้นมีราคา คิดอยู่เท่านี้" พี่เล็ก บอก
เป็นเรื่องดีจริง ๆ ที่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากหนทางที่จะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันอีกด้วย
ภาพของหญิงวัยกลางคนเชื้อสายจีนคอยบริการผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลเบตง จังหวัดยะลา ในฐานะผู้ปฏิบัติงานจิตอาสา คงเป็นภาพที่ชาวเบตงคุ้นตาเป็นอย่างดี แต่จะมีใครรู้ไหมว่า หญิงคนนี้...ในอดีตเคยเป็นผู้ป่วยจิตเวทขั้นรุนแรงที่ไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยวด้วย
"กุ้ยย้ง แซ่ล้อ" เธอคือขวัญใจของคนในโรงพยาบาลเบตง ก่อนหน้านี้เธอเคยมีอาการทางจิต หวาดระแวง เห็นภาพหลอน ทำให้ต้องแยกจากครอบครัว แต่เมื่ออาการดีขึ้น "กุ้ยย้ง" ก็ได้ผันตัวเป็นมาอาสาคอยดูแลผู้ป่วยคนอื่น รวมทั้งคอยให้คำแนะนำผู้ป่วยที่เดินทางมาติดต่อโรงพยาบาล และจัดเตรียมอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ได้ใช้ตั้งแต่เช้าตรู่ และไม่น่าเชื่อว่า งานที่ได้พบปะผู้คนและมอบน้ำใจ กำลังใจให้ผู้อื่นนี้ กลับส่งผลให้อาการป่วยของเธอดีวันดีคืน จนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติ และมีเพื่อนเติมความอบอุ่นให้กับชีวิต
"งานบริสุทธิ์อย่างนี้ชอบทำ ไม่มีอะไรต้องเขิน ต้องอาย เพราะทำแล้วสบายใจ มีความสุข ดีใจที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น" กุ้ยย้ง กล่าวถึงงานจิตอาสาที่เธอรัก
สุดท้ายแล้ว การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยจิตใจจิตอาสา กลับกลายเป็น "ยาขนานเอก" ที่่ช่วยบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิตของ "กุ้ยย้ง" ให้ดีขึ้นราวกับปาฏิหาริย์ และด้วยจิตใจที่ดีงามนี้เอง ได้ช่วยให้ "กุ้ยย้ง" ฝ่าฟันอุปสรรคครั้งสำคัญของชีวิตมาได้ จนปัจจุบันเธอได้รับการยอมรับจากคนอื่น และกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขดังเดิม
เพราะความหลงใหลในเสน่ห์ของเมืองไทย ทำให้ ณ วันนี้ ครอบครัววิลเลี่ยม ครอบครัวใหญ่ชาวอเมริกัน ตัดสินใจมาตั้งรกรากที่เมืองไทยพร้อมกับสมาชิกอีก 15 ชีวิต แต่ที่นี่...พวกเขาไม่ได้เป็นแค่ผู้พักพิงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะทุกวันนี้ "ครอบครัววิลเลี่ยม" ยังเรียนรู้วัฒนธรรมไทย และประเพณีไทย เพื่อปรับตัวให้เป็นคนไทยอย่างแท้จริง
"วันแรกที่มาถึงประหลาดใจมากที่เมืองนี้เป็นเมืองที่มีแต่รอยยิ้ม มีแต่ความสุภาพ อ่อนโยน การไหว้ที่อ่อนหวาน อีกทั้งยังมีความใจดีที่มอบให้เธออย่างที่ไม่พบเคยเจอที่ไหนมาก่อน เลยพาครอบครัวมาซื้อบ้านที่นี่ แล้วให้ลูก ๆ ของทั้ง 13 คน ได้เรียนรู้วัฒนธรรม และประเพณีไทย เพราะอยากให้ลูกมีนิสัยที่น่ารักแบบคนไทย และได้เรียนรู้วัฒนธรรมแห่งการให้ อยากให้ความเป็นไทยหล่อหลอมความคิดอ่านของลูก ๆ ให้เป็นคนดี ... และสุภาพอ่อนน้อม เพียงแค่ครึ่งนึงของคนไทยก็พอ" คุณแม่ไข่มุก วิลเลี่ยม ผู้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมไทย บอกถึงความรู้สึกรักแรกพบประเทศไทย
หลังจากการศึกษาร่ำเรียนวัฒนธรรมไทยจนเข้าใจดีแล้ว ก็ได้เวลาที่ครอบครัววิลเลี่ยมจะขอนำวัฒนธรรมไทยเหล่านี้ รวมทั้งการฝึกร้องเพลงไทย เพลงหมอลำ ซึ่งได้ คริสตี้ นักร้องลูกทุ่งชื่อดังมาช่วยฝึกซ้อม จัดแสดงให้คนไทยประจักษ์ในความสามารถกันเสียที บ่อยครั้งที่ครอบครัววิลเลี่ยมจะนำวัฒนธรรมไทยที่พวกเขาพร่ำเรียนรู้ไปสร้างความสุขและเสียงหัวเราะให้กับผู้ป่วยที่โรงพยาบาลตำรวจเป็นประจำ ในฐานะอาสาสมัครที่มาให้กำลังใจผู้ป่วย จนคนไทยชื่นชอบและปรบมือให้ยกใหญ่ ด้วยความประทับใจในหัวใจรักความเป็นไทยของครอบครัวต่างชาติน่ารัก ๆ ครอบครัวนี้
แม้แต่คนต่างชาติยังข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนรู้วัฒนธรรมไทย เราคนไทยก็อย่าปล่อยให้มรดกที่มีค่าเหล่านี้สูญสลายไปต่อหน้าต่อตานะคะ
ภาพของสาวจีนน้ำใจงามที่วิ่งถือร่มออกไปกางให้ชายชราขาพิการคนหนึ่ง ที่กำลังเคลื่อนล้อรถเลื่อนไปหาที่หลบฝนซึ่งตกหนัก กลายเป็นหนึ่งในภาพที่ชาวไซเบอร์เมืองจีนพูดถึงกันมากที่สุดประจำปี ด้วยความประทับใจที่เห็นหญิงสาวคนนี้มีจิตใจงดงามอย่างหาที่เปรียบมิได้ แม้ว่าสายฝนที่ตกหนักจะทำให้ร่มของเธอไม่สามารถต้านทานแรงฝนได้อยู่ จนเปียกปอนไปทั้งหญิงสาวและชายชรา แต่หญิงสาวก็มิได้หวั่นเกรงสายฝนยังคงพยายามช่วยเหลือบังสายฝนให้ชายชราผู้น่าเวทนาให้เปียกปอนน้อยที่สุด ท่ามกลางสายตาของใครหลายคู่ที่มองเห็นเหตุการณ์ตรงหน้า
เธอเป็นใคร? ไม่มีใครรู้ แต่เรื่องราวของเธอกลับสร้างความประทับใจไปทั่วโลกไซเบอร์ จนใคร ๆ ต่างก็ขนานนามเธอว่า "นางฟ้าที่สวยที่สุด" เพราะทุกคนได้เห็นความดีที่งดงามซึ่งอยู่ในจิตใจของหญิงสาวนิรนามผู้นี้นั่นเอง
ความมีน้ำใจที่อยากช่วยเหลือผู้อื่นลงท้ายกลับกลายเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนทราบข่าวต้องหลั่งน้ำตาให้ จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ชายชาวจีนนามว่า "หนิว จั้วเถา" อดีตนายทหารวัย 31 ปี ตัดสินใจกระโดดแม่น้ำจูเจียง ในเมืองกว่างโจว ลงไปช่วยหญิงสาวรายหนึ่งที่กำลังจะจมน้ำ แต่ในที่สุดแล้ว กระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกลับพรากชีวิตของพลเมืองดี และหญิงผู้เคราะห์ร้ายให้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ สร้างความเศร้าสะเทือนใจให้กับบรรดาเพื่อน ๆ ของนายหนิวที่เห็นเพื่อนจมหายไปต่อหน้าต่อตา ขณะที่ภรรยา และลูกสาววัย 5 ขวบ ของนายหนิว เมื่อได้ทราบข่าวร้ายนี้ ก็ตกใจและร่ำไห้ที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปก่อนวัยอันควร
อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของนายหนิว พลเมืองดีผู้กล้าหาญครั้งนี้ ได้ทำให้ทางการเมืองกว่างโจวประกาศยกย่องให้นายหนิวเป็น "วีรบุรุษ" และขอให้ชาวจีนทั้งประเทศเอาเยี่ยงอย่างความกล้าหาญของนายหนิว นอกจากนี้ เรื่องราวของนายหนิว ยังเป็นการสะกิดสังคมของจีนที่กำลังเสื่อมโทรมอย่างแรง เพราะในขณะที่ชาวจีนหลายคนกำลังแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย และลืมคำว่า "มนุษยธรรม" ไปเสียหมดสิ้น กลับยังมีชายอีกคนหนึ่งอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน พยายามยื่นมือเข้าช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่คิดชีวิต แม้กระทั่งตัวตายก็ยังได้รับการสรรเสริญ และยกย่องให้เป็น "วีรบุรุษ"
และนี่ก็คือ 15 คนแห่งปีที่มีแนวคิดดี ๆ และทำความดีเพื่อผู้อื่น ซึ่งกระปุกดอทคอมขอยกย่องให้พวกเขาเป็นบุคคลต้นแบบสังคมประจำปี 2554 เชื่อว่าใครที่ได้อ่านเรื่องราวเหล่านี้ คงรู้สึกประทับใจในความดีของพวกเขา และเรื่องราวเหล่านี้อาจจะช่วยเปลี่ยนมุมมองของใครหลาย ๆ คน ให้มองเห็นว่า โลกของเราใบนี้น่าอยู่ขึ้นอีกมากเลย จริงไหมคะ?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น