วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558

มนุษย์กับความเป็นมา

มนุษย์กับความเป็นมา

1. ความหมายและลักษณะสำคัญของมนุษย์    พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525  ได้ให้ความหมายของคำว่า  “มนุษย์”  ไว้ดังนี้ มนุษย์ หมายถึง สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล  สัตว์ที่มีจิตใจสูง คน
    ในสาขาวิชาต่างๆ ได้กล่าวถึงมนุษย์ไว้หลายประการ ดังเช่น ในสาขามนุษยศาสตร์กล่าวถึงมนุษย์ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐหรือสัตว์ที่มีจิตใจสูง ในสาขาสังคมศาสตร์กล่าวถึงมนุษย์ว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และในสาขาวิทยาศาสตร์ ก็จัดว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งในอาณาจักรสัตว์
    จากความหมายของมนุษย์ตามที่ปรากฏในพจนานุกรม   รวมทั้งการกล่าวถึงมนุษย์ในลักษณะต่างๆ ตามแนวคิดของแต่ละสาขา จะพบว่ามนุษย์กับสัตว์นั้นมีลักษณะบางประการร่วมกันอยู่ และมีลักษณะบางประการแตกต่างกันออกไป
��� ��� ���ชาร์ลส์  ดาร์วิน  (Charles  Darwin) นักปราชญ์ชาวอังกฤษผู้สร้างทฤษฎีวิวัฒนาการ ได้ชี้ให้เห็นลักษณะซึ่งมนุษย์และสัตว์มีอยู่ร่วมกันเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2402 และเป็นที่ยอมรับกันตั้งแต่นั้นมา ลักษณะซึ่งมนุษย์และสัตว์มีอยู่ร่วมกันนั้น คือลักษณะสากลของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เช่นมีความต้องการอาหาร น้ำ อากาศ เพื่อการดำรงชีวิต มีความสามารถในการสืบพันธุ์ ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพและชีวภาพ เป็นต้น  การที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีลักษณะที่เหมือนๆ กันอยู่ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งมีชีวิตทั้งหลายวิวัฒนาการมาจากจุดเริ่มต้นเดียวกัน และเนื่องจากกระบวนการวิวัฒนาการ สิ่งมีชีวิตจึงได้มีการพัฒนาการมาโดยลำดับ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตและขยายพันธุ์สืบต่อๆ กันไป และมีผลทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป เกิดลักษณะพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด มนุษย์มีลักษณะพิเศษหลายประการที่บรรดาสัตว์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่มี จนทำให้บางคนไม่ยอมรับว่ามนุษย์คือสัตว์ชนิดหนึ่ง ลักษณะพิเศษของมนุษย์  เช่นสามารถกินอาหารได้มากมายหลายประเภท  กินได้ทั้งพืชและสัตว์ มีลักษณะลำตัวตั้งตรงกับพื้นโลก เคลื่อนที่ด้วยขาสองขา     มีความเฉลียวฉลาด สามารถดัดแปลงสิ่งแวดล้อมมาใช้ประโยชน์ได้        ลักษณะของมนุษย์มีความได้เปรียบกว่าสัตว์ประเภทอื่นๆ  โดยเฉพาะสมองของมนุษย์ที่มีขนาดใหญ่กว่าสัตว์ประเภทอื่นๆ เมื่อเทียบกับขนาดของร่างกาย  นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการเปรียบเทียบน้ำหนักของร่างกายกับขนาดของสมองของสัตว์หลายชนิด ผลปรากฏว่าร่างกายของมนุษย์จะมีน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักของสมองมนุษย์เองประมาณ 50 เท่าตัว ร่างกายของสุนัขจะมีน้ำหนักมากกว่าสมองของมันประมาณ 110 เท่าตัว ส่วนช้างจะมีน้ำหนักของร่างกายมากกว่าสมองประมาณ 1,000 เท่า  ด้วยสมองที่มีขนาดใหญ่และทรงคุณภาพยิ่ง  ทำให้มนุษย์มีสติปัญญาในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิต มีความสามารถในการเรียนรู้ได้อย่างมากมาย  รู้จักสร้างภาพหรือสัญลักษณ์  รู้จักสร้างเครื่องมือในการสื่อความหมาย รู้จักใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา มนุษย์สามารถสะสมและถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นหนึ่งไปยังรุ่นต่อๆ ไปได้


  


ภาพที่ 1.1  เปรียบเทียบลักษณะทางกายภาพของมนุษย์ และสัตว์
2. วิวัฒนาการของมนุษย์
   
    วิวัฒนาการ (evolution) ในทางชีววิทยา หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตทีละเล็กละน้อย จากสิ่งที่มีโครงสร้างหรือองค์ประกอบอย่างง่ายๆ ไปเป็นสิ่งที่มีโครงสร้างหรือองค์ประกอบที่สลับซับซ้อน อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นแตกต่างไปจากเดิม นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกอาจวิวัฒนาการมาจากเซลล์เพียงเซลล์เดียว หลังจากสิ่งมีชีวิตแรกเริ่มเกิดขึ้นในโลก  สิ่งแวดล้อมได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตลอดเวลา    สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นใหม่ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง  เกิดการคัดเลือกตามธรรมชาติ (natural  selection) จนได้สิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างต่างๆ กัน  จากสิ่งมีชีวิตง่ายๆ วิวัฒนาการไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่สลับซับซ้อน กลายเป็นพืช สัตว์ และมนุษย์  สิ่งมีชีวิตบางชนิดที่ไม่แข็งแรงและมีลักษณะบางอย่างเฉพาะเกินไปจนไม่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้  ก็จะค่อยๆ ตายและสูญพันธุ์ไป   คงเหลือแต่พวกที่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมได้    และวิวัฒนาการต่อมาเป็นสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน จึงกล่าวได้ว่าวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์เป็นกระบวนการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตเข้ากับสภาพแวดล้อม     จากการศึกษาซากดึกดำบรรพ์ (fossil) ของสิ่งมีชีวิตแรกที่สุดจนถึงยุคปัจจุบัน    ทำให้นักวิทยาศาสตร์สรุปได้ว่ามนุษย์ได้วิวัฒนาการมาจากไพรเมต (Primate คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชั้นสูงมีรูปร่างคล้ายลิง) เมื่อประมาณ 60 ล้านปีมาแล้ว  ไพรเมตเป็นสัตว์ที่มี 5 นิ้ว ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตและหากินอยู่บนต้นไม้ โดยอาศัยนิ้วมือนิ้วเท้าที่ค่อนข้างยาวเกาะกิ่งไม้  ต่อมาจึงวิวัฒนาการมาเป็นไดรโอพิทธีคัส  (Dryopithecus คือบรรพบุรุษร่วมกันระหว่างมนุษย์กับลิง)   เมื่อประมาณ 12 - 28 ล้านปีที่ผ่านมา     หลังจากนั้นวิวัฒนาการต่อมาเป็นรามาพิทธีคัส (Ramapithecus)  เมื่อประมาณ 12 - 14 ล้านปีก่อนปัจจุบัน  จากรามาพิทธีคัสจึงได้วิวัฒนาการต่อมาเป็นออสตราโลพิทธีคัส (Australopithecus) และโฮโม ฮาบิลิส  (Homo Habilis หมายถึงมนุษย์ผู้ถนัดใช้มือ) เมื่อประมาณ  4 -  5 ล้านปีมาแล้ว จากหลักฐานพบว่าออสตราโลพิทธีคัสและโฮโม ฮาบิลิส กำเนิดขึ้นในช่วงระยะเวลาเดียวกัน แต่โฮโม ฮาบิลิสได้สูญพันธุ์ไปก่อน นักวิทยาศาสตร์จึงมีความเห็นว่า         ออสตราโลพิทธีคัส คือบรรพบุรุษของโฮมินิด (Hominid คือ สัตว์ในตระกูลมนุษย์) ในช่วงเวลาต่อมา  นั่นก็คือเป็นบรรพบุรุษของโฮโม อีเรคตัส (Homo Erectus หมายถึงมนุษย์ตัวตรง) ซึ่งมีชีวิตอยู่บนโลกเมื่อประมาณ 1,500,000 - 300,000 ปี มาแล้ว  จากโฮโม อีเรคตัสได้วิวัฒนาการต่อมาเป็น โฮโม ซาเพียน (Homo sapien)  ซึ่งเป็นบรรพบุรุษโดยตรงของมนุษย์ปัจจุบัน
     จุดเริ่มต้นของโฮโม  ซาเพียน ซึ่งวิวัฒนาการมาจาก โฮโม อีเรคตัส เกิดขึ้นมาบนโลกนี้ เมื่อประมาณ 300,000 ปีมาแล้ว  โครงกระดูกของ โฮโม ซาเพียน ในยุคแรกๆ พบทั้งในบริเวณทวีปยุโรปและทวีปแอฟริกา  แต่ในระยะหลังๆ ค้นพบในบริเวณต่างๆ ทั่วโลก (ยกเว้นทวีปอเมริกา)
      โฮโม  ซาเพียน  ยุคเก่ามีลักษณะแตกต่างจาก โฮโม ซาเพียน ยุคใหม่ โฮโม ซาเพียน ยุคเก่าจะมีลักษณะเชื่อมต่อระหว่างโฮโม อีเรคตัส กับ โฮโม ซาเพียน  ส่วนโฮโม ซาเพียน ยุคใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 50,000 ปีมาแล้ว มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ปัจจุบัน  โฮโม ซาเพียนยุคใหม่ที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ยุคปัจจุบัน  ได้แก่มนุษย์โคร-มายอง (Cro-magnon man)  ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้พบโครงกระดูกของมนุษย์พวกนี้หลายโครงกระดูกด้วยกันในบริเวณถ้ำที่โคร-มายอง  ประเทศฝรั่งเศส  โดยทั่วๆ ไปนักวิทยาศาสตร์ส่วนมากมีความโน้มเอียงเชื่อว่ามนุษย์โคร-มายอง   เป็นบรรพบุรุษที่แท้จริงของมนุษย์แบบปัจจุบัน
     จากหลักฐานต่างๆ  พบว่าที่อยู่อาศัยของมนุษย์โคร-มายองส่วนใหญ่ คือบริเวณถ้ำและกระท่อม หรือที่พักที่ทำด้วยหิน  มนุษย์โคร-มายอง  รู้จักการล่าสัตว์  เช่น  กวาง ม้าป่า  รู้จักสร้างเครื่องมือและอาวุธที่ทำด้วยหิน กระดูก และเขากวาง รู้จักการสร้างงานด้านศิลปะ   มีการแกะสลักภาพบนแผ่นหินและกระดูกสัตว์  งานศิลปะของมนุษย์โคร-มายอง  มีคุณภาพสูงมากจนเป็นที่น่าประหลาดใจ  ผลงานทางด้านศิลปะของมนุษย์โคร-มายอง ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปกรรมชิ้นแรกของมนุษย์  จากหลักฐานต่างๆ ที่พบ นักวิทยาศาสตร์สรุปว่ามนุษย์โคร-มายอง มีความก้าวหน้ากว่ามนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์พวกอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว
    เรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์มิใช่เรื่องที่จะศึกษาให้ได้ความจริงที่ง่ายๆ เพราะเป็นเรื่องของอดีตอันยาวนานมาก แม้จะศึกษาจากซากดึกดำบรรพ์หรือซากกลายเป็นหินของมนุษย์ ก็ยากที่จะค้นพบ และสิ่งที่ค้นพบก็มิใช่จะอยู่ในสภาพที่จะวิเคราะห์เพื่อหาความเป็นมาที่ถูกต้องได้ง่ายๆ  อย่างไรก็ตามนักวิชาการต่างๆ ก็ให้ความสนใจในการศึกษาเรื่องนี้มาโดยตลอด  ได้มีการขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ของมนุษย์ในท้องที่ต่างๆ  มีการนำมาศึกษาเรียงลำดับวิวัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะได้พบหลักฐานที่สมบูรณ์ขึ้นและได้เรื่องราวที่น่าเชื่อถือได้มากขึ้น




ภาพที่ 1.2 วิวัฒนาการทางกายภาพของมนุษยชาติ3. ชาติพันธุ์ของมนุษย์
   ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า โฮโม  ซาเพียนคือบรรพบุรุษของมนุษย์แบบปัจจุบัน    ดังนั้นมนุษย์ในปัจจุบันไม่ว่าจะพูดภาษาใด  มีรูปร่างหน้าตารวมทั้งลักษณะในทางร่างกายผิดแผกแตกต่างกันมากน้อยเพียงใดก็ตาม        ต่างก็สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเดียวกันคือตระกูลโฮโม ซาเพียนหรือตระกูลมนุษย์ฉลาด  เมื่อมนุษย์สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเดียวกันหรือบรรพบุรุษเดียวกันแล้ว  เพราะเหตุใดมนุษย์จึงมีลักษณะแตกต่างกันออกไปเป็นพวกใหญ่อย่างเห็นได้ชัด  มีสาเหตุประการใดบ้างที่ทำให้ลักษณะของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป   การเปลี่ยนแปลงนี้มีมาแต่ครั้งใดและมีความเป็นมาอย่างไร ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันไม่สามารถคิดค้นหาคำตอบได้อย่างสมบูรณ์ หลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับมนุษย์ในเรื่องนี้มีอยู่น้อยและมีอยู่อย่างกระจัดกระจาย   เกินกว่าที่นักวิทยาศาสตร์จะสามารถรวบรวมนำมาวิเคราะห์และช่วยทำให้ปัญหาเหล่านี้กระจ่างแจ้งขึ้น  อย่างไรก็ตามสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดวิวัฒนาการทางชาติพันธุ์ของมนุษย์ประการหนึ่ง น่าจะมาจากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่แตกต่างกันไปในแต่ละบริเวณ เช่น ลักษณะภูมิอากาศ ลักษณะภูมิประเทศ  ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อลักษณะทางกายภาพของมนุษย์   รวมทั้งมีอิทธิพลต่อสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ด้วย  โดยทั่วไปนักวิทยาศาสตร์สรุปว่ามนุษย์กลุ่มต่างๆ ที่มีความแตกต่างในชาติพันธุ์นั้นได้เริ่มมีขึ้นเมื่อกว่า 10,000 ปีมาแล้ว
    การจำแนกชาติพันธุ์ของมนุษย์ในที่นี้ จะพิจารณาในแง่ความแตกต่างทางกายภาพ โดยเฉพาะทางร่างกายตามหลักชีววิทยาเท่านั้น และจะหมายถึงชาติพันธุ์ใหญ่ของมนุษย์ที่วิวัฒนาการขึ้นมาหลังจากการเป็นโฮโม ซาเพียนแล้ว   ลักษณะทางกายภาพที่นำมาใช้เป็นเครื่องกำหนดชาติพันธุ์ได้แก่  สีผิว  ลักษณะของนัยน์ตา  รูปทรงของร่างกาย  เป็นต้น และโดยลักษณะทางกายภาพต่างๆ ของมนุษย์ จึงได้จำแนกชาติพันธุ์ของมนุษย์ออกเป็นพวกใหญ่ๆ  3 พวก คือ
      1) พวกคอเคซอยด์ (Caucasoid) หรือพวกผิวขาว (white race)  ลักษณะทั่วไปจัดว่ามีรูปร่างตั้งแต่ปานกลาง ถึงสูงใหญ่ มีรูปหน้าเรียวยาว กะโหลกศรีษะยาว จมูกโด่ง มีผมสีน้ำตาลและสีทอง เส้นผมหยักศกบ้าง ตรงบ้าง
      2) พวกมองโกลอยด์ (Mongoloid)   หรือพวกผิวเหลือง (yellow race) ลักษณะทั่วไปมีรูปร่างสูงใหญ่ขนาดปานกลางจนถึงเตี้ย มีรูปศรีษะกว้าง รูปหน้ากว้าง โหนกแก้มสูง ผิวเหลืองจนถึงเหลืองคล้ำ เส้นผมสีดำ ลักษณะหยาบและเหยียดตรง
      3) พวกนิกรอยด์ (Negroid)  หรือพวกผิวดำ (black race) ลักษณะทั่วไปมีรูปศรีษะยาว มีกระดูกขากรรไกรยื่น รูจมูกกว้าง คางเล็ก ริมฝีปากยื่น  ผิวสีน้ำตาลคล้ำจนถึงดำ เส้นผมหยิกและหยาบ มีรูปร่างตั้งแต่เตี้ยมากจนถึงสูง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น