แมงกะพรุน หรือ กะพรุน (อังกฤษ: Jellyfish, Medusa) จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไฟลัมไนดาเรีย ไฟลัมย่อยเมดูโซซัว แบ่งออกเป็นอันดับได้ 5 อันดับ (ดูในตาราง) ลักษณะลำตัวใสและนิ่มมีโพรงทำหน้าที่เป็นทางเดินอาหารมีเข็มพิษที่บริเวณหนวดที่อยู่ด้านล่าง ไว้ป้องกันตัวและจับเหยื่อ เมื่อโตเต็มวัย ส่วนประกอบหลักในลำตัวเป็นน้ำร้อยละ 94-98 ด้านบนเป็นวงโค้งคล้ายร่ม ด้านล่างตอนกลางเป็นอวัยวะทำหน้าที่กินและย่อยอาหาร พบได้ในทะเลทุกแห่งทั่วโลก
แมงกะพรุนส่วนใหญ่จัดอยู่ในอันดับไซโฟซัว แต่ก็บางประเภทที่อยู่ในอันดับไฮโดรซัว อาทิ แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส (Physalia physalis) ซึ่งเป็นแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก และแมงกะพรุนอิรุคันจิ (Malo kingi) ที่อยู่ในอันดับคูโบซัว ก็ถูกเรียกว่าแมงกะพรุนเช่นกัน
รูปร่าง
แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่มีลำตัวโปร่งใส ร่างกายประกอบด้วยเจลาตินเป็นส่วนใหญ่ สามารถมองเห็นเข้าไปได้ถึงอวัยวะภายใน เป็นสัตว์ที่ไม่มีทั้งสมองหรือหัวใจ[2] ลำตัวด้านบนของแมงกะพรุนมีลักษณะคล้ายร่ม เรียกว่า "เมดูซ่า" ซึ่งศัพท์คำนี้ก็ใช้เป็นอีกชื่อหนึ่งของแมงกะพรุนด้วยเช่นกัน
แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาแล้วกว่า 505 หรือ 600 ล้านปี[2][3] มีวงจรชีวิตที่ขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ[4]
วงจรชีวิต
หลังจากผสมพันธุ์แล้ว แมงกะพรุนเมื่อได้ปฏิสนธิแล้ว หลังจากนั้นตัวอ่อนจะพัฒนาขึ้นมา มีลักษณะเหมือนขนหรือหนอนตัวเล็ก ๆ มีขนละเอียดรอบตัว เรียกว่า "ซิเลีย" จากนั้นจะพัฒนาไปเป็น "พลานูลา" จะคืบคลานไปหาที่ ๆ เหมาะสมเพื่อเกาะและเปลี่ยนรูปร่างกลายเป็น "โพลิป" ซึ่งมีสันฐานเหมือนดอกไม้ทะเลขนาดจิ๋ว คือ มีลำตัวที่เหมือนกับแจกันเกาะอยู่กับวัสดุต่าง ๆ ลำตัวหงายขึ้น โดยมีหนวดอยู่รอบปากด้านบน ซึ่งแตกต่างไปจากแมงกะพรุนตัวเต็มวัย เมื่อโพลิปได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และจำเพาะก็จะเกิดการแตกหน่อซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ซึ่งคือ แมงกะพรุนขนาดเล็กที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ จะหลุดและลอยไปตามกระแสน้ำ ที่เรียกว่า "อีฟีรา" หรือ "เมดูซ่า" มีลักษณะเหมือนแมงกะพรุนตัวเต็มวัย คือ ลำตัวคว่ำลง หนวดอยู่ด้านล่าง หากแมงกะพรุนในขั้นนี้ได้รับอาหารที่พอเพียง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ก็จะเจริญเติบโตกลายเป็นแมงกะพรุนตัวเต็มวัย เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ต่อไปก็จะเข้าสู่วงจรเหล่านี้ใหม่อีกครั้ง[1]
พิษ
แมงกะพรุนหลายชนิดมีพิษ โดยบริเวณหนวดและแขนงที่ยื่นรอบปาก เรียกว่า "มีนีมาโตซีส" หรือเข็มพิษ ใช้สำหรับฆ่าเหยื่อ หรือทำให้เหยื่อสลบก่อนจับกินเป็นอาหาร ซึ่งโดยมากเป็น ปลาและใช้สำหรับป้องกันตัว ปริมาณของนีมาโตซีสอาจมีจำนวนถึง 80,000 เซลล์ ใน 1 ตารางเซนติเมตรเท่านั้น ภายในนีมาโตซีสนี้เองมีน้ำพิษที่เป็นอันตรายทำให้เกิดอาการคัน เป็นผื่น บวมแดง เป็นรอยไหม้ ปวดแสบปวดร้อน และเป็นแผลเรื้อรังได้ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับแมงกะพรุนแต่ละชนิด ในชนิด Chironex fleckeri ซึ่งเป็นแมงกะพรุนกล่องชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีเซลล์เข็มพิษมากถึง 4-5,000,000,000 ล้านเซลล์ ในหนวดทั้งหมด 60 เส้น ซึ่งมีผลทางระบบโลหิต โดยไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้โลหิตเป็นพิษ และเสียชีวิตลงได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
การจำแนกและคุณลักษณะ
โดยทั่วไปแล้ว แมงกะพรุนมีหลายชนิดที่สามารถรับประทานได้ โดยชาวประมงจะเก็บจากทะเล และผ่าออกทำการตากแห้งและหมักกับเกลือ,สารส้ม และโซเดียม ก่อนจะนำออกขาย โดยประกอบอาหารได้หลายประเภท อาทิ ยำ และเป็นส่วนประกอบสำคัญของเย็นตาโฟ ซึ่งแมงกะพรุนชนิดที่รับประทานได้ คือ แมงกะพรุนหนัง (Rhopilema spp.) และ แมงกะพรุนจาน (Aurelia spp.) ซึ่งชาวจีนมีการรับประทานแมงกะพรุนมาไม่ต่ำกว่า 1,000 ปีแล้ว คุณค่าทางอาหารของแมงกะพรุน คือ มีโปรตีนสูงและแคลอรีต่ำ เป็นโปรตีนประเภทคอลลาเจนสามารถรับประทานได้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าคอลลาเจนจากแมงกะพรุนอาจจะมีส่วนรักษาโรคไขข้ออักเสบ และโรคหลอดลมอักเสบ ตลอดจนทำให้ผิวหนังนุ่มนวลด้วย
แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่พบได้ในท้องทะเลทั่วทุกภูมิภาคของโลก ทั้งส่วนที่หนาวเย็นเป็นน้ำแข็งเช่น มหาสมุทรอาร์กติก หรือในที่ ๆ ลึกเป็นพัน ๆ เมตรที่แสงสว่างส่องลงไปไม่ถึง คาดการว่ามีแมงกะพรุนทั้งหมดราว 30,000 ชนิด แต่ชนิดที่เป็นที่รู้จักกันดีราว 2,000 ชนิด และเป็นแมงกะพรุนที่มีพิษราว 70 ชนิด ที่มีอันตรายต่อมนุษย์
ขณะที่แมงกะพรุนชนิดที่มีพิษ จะถูกเรียกรวม ๆ กันว่า แมงกะพรุนไฟ (Crysaora spp.) ส่วนใหญ่มีลำตัวสีแดงหรือสีส้ม จะมีพิษที่บริเวณหนวดที่มีน้ำพิษ ใช้สำหรับเพื่อล่าเหยื่อและป้องกันตัว สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ที่ถูกต่อยได้ บริเวณที่ถูกต่อยนั้นจะปรากฏรอยคล้ายรอยไหม้เป็นผื่น จากนั้นในอีก 20-30 นาทีต่อมา จะบวมนูนขึ้นเป็นทางยาวตามผิวหนัง ต่อไปจะเกิดเป็นแผลเล็ก ๆ และแตกออกเป็นแผลเรื้อรัง กล้ามเนื้อเกร็งและบังคับไม่ได้ จุกเสียด หายใจไม่ออก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งสิ่งที่สามารถปฐมพยาบาลพิษของแมงกะพรุนไฟได้เป็นอย่างดี คือ ใบของผักบุ้งทะเล (Ipomoea pes-caprae) ใช้ร่วมกับน้ำส้มสายชูขยี้บริเวณที่ถูกพิษ จะช่วยทุเลาอาการได้ และหากมีอาการปวดสามารถรับประทานยาจำพวก แอสไพรินได้ ก่อนจะนำส่งสถานพยาบาล หรือการปฐมพยาบาลแบบง่ายที่สุด คือ ใช้น้ำจืดราดบริเวณที่ถูกต่อย เพื่อให้เข็มพิษของแมงกะพรุนนั้นหลุดไป จากนั้นจึงใช้น้ำส้มสายชูราดลงไป ก็จะทำลายพิษได้
มีสัตว์บางประเภทที่ถูกเรียกว่า แมงกะพรุน เช่นกัน แต่พบอาศัยอยู่ในน้ำจืด คือ แมงกะพรุนน้ำจืด (Craspedacusta spp.) จัดเป็นแมงกะพรุนขนาดเล็ก พบในแหล่งน้ำจืดของสหรัฐอเมริกาและทวีปเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่ถูกจัดให้อยู่ในชั้นไฮโดรซัว[11]
แมงกะพรุนชนิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ แมงกะพรุนขนสิงโต (Cyanea capillata) ที่เมื่อแผ่ออกแล้วอาจมีความกว้างได้ถึงเกือบ 3 เมตร และยาวถึง 37 เมตร ปรกติพบในอาร์กติก, มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ และมหาสมุทรแปซิฟิคเหนือ